ปลัดสธ. เผยสถานการณ์โรคคอตีบ ควบคุมได้ รอบ 4 สัปดาห์นี้ไม่พบพื้นที่ระบาดใหม่


            ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมวอร์รูมติดตามประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรคคอตีบ เผยควบคุมสถานการณ์ได้ ในรอบ 4 สัปดาห์มานี้พบผู้ป่วยยืนยันเพียง  4 ราย รักษาหาย ไม่พบพื้นที่ระบาดใหม่ ให้ทุกจังหวัดดำเนินการกิจกรรมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ยึดมาตรการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยเร็ว และรักษาเร็ว โดยให้แพทย์ใช้ยาปฏิชีวนะ ร๊อกซิโทรมัยซิน ฆ่าเชื้อคอตีบได้ดี และป้องกันเชื้อจากผู้ป่วยแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ผลดีด้วย          

            วันนี้(16 พฤศจิกายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมติดตามเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาโรคคอตีบ ว่า  จากการประเมินสถานการณ์  พบว่าจำนวนผู้ป่วยยืนยันโรคคอตีบชะลอตัว ชี้ให้เห็นว่าการควบคุมการระบาด  ดำเนินมาถูกทิศทาง และการป้องกันได้ผลดี   แต่อาจจะพบผู้มีอาการในข่ายสงสัยเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า โรคระบาดเพิ่มขึ้น  แต่เป็นผลมาจากความเข้มแข็ง เข้มข้น ของระบบการเฝ้าระวัง  การค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ และทุกรายเข้าข่ายสงสัยจะต้องมีการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถทราบการระบาดที่แท้จริง ในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพียง 4 ราย รักษาหาย และไม่พบพื้นที่ระบาดใหม่ สรุปตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 – 14 พฤศจิกายน 2555  สำนักระบาดวิทยารายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโรคคอตีบ  36 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้ที่มีอาการเข้าข่ายหรือมีอาการรุนแรง 5 ราย ผู้ป่วยสงสัย 17 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมีทั้งหมด 9 อำเภอ พื้นที่สงสัย 26 อำเภอ และพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค 27 อำเภอ ใน 16 จังหวัด

              นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า มาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคคอตีบขณะนี้ จะเน้นให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยรวดเร็วและให้การรักษาเร็ว โดยให้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดทีมเจ้าหน้าที่ ติดตามพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ และให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจยืนยันเชื้อคอตีบอย่างรวดเร็ว แม่นยำทั่วประเทศ  เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 สามารถตรวจเชื้อชนิดนี้ได้  และครบ 100 เปอร์เซนต์ภายในเดือนธันวาคม 2555   ส่วนการรักษา ขณะนี้ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยาปฎิชีวนะคือร๊อกซิโทรมัยซิน(roxithromycin) ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคชนิดนี้ได้ดี เมื่อเชื้อถูกทำลาย สามารถลดความรุนแรงอาการป่วยได้ เนื่องจากเชื้อโรคคอตีบ ไม่สามารถผลิตสารพิษหรือที่เรียกว่าท็อกซิน (toxin) ไปทำลายอวัยวะต่างๆที่สำคัญได้แก่ หัวใจ ไต และระบบประสาท เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อจากผู้ป่วยแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้เป็นอย่างดีด้วย  

                สำหรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคคอตีบขณะนี้ ในวันนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งรัดกิจกรรมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ตามระดับสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ ให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 และให้ 15 จังหวัดได้แก่หนองคาย พิจิตร อุตรดิตถ์ บึงกาฬ น่าน สกลนคร ขอนแก่น เชียงราย หนองบัวลำภู สุราษฎร์ธานี อุดรธานี พิษณุโลก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และเลย ดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ทียังพบผู้ป่วยในพื้นที่ให้ปรับประสิทธิภาพแนวทางดำเนินงาน การเพิ่มอัตราความครอบคลุมของวัคซีนให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อรับเทศกาลปีใหม่ม้ง โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการติดตามประเมินผลอาจปรับลดระดับพื้นที่ระบาดต่อไป

          .......................           16 พฤศจิกายน 2555

 


แหล่งข่าวโดย » สำนักสารนิเทศ 
[พฤศจิกายน ศุกร์ 16,พ.ศ 2555 16:51:35] 
พิมพ์ข่าว

  ลิขสิทธิ์ โดย สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2553 © 2010 |